สถานีวิทยุพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ว.พ.ช.) คลื่น FM 104.25
โทรศัพท์ ๐๒-๔๐๘-๖๔๗๐, ๐๘๙-๖๖๘-๑๐๔๗
อีเมล์ boonroumradio@gmail.com

คลังภาพกิจกรรม วันเทโวโรหณะ ปี 2565

                                    “วันเทโวโณหณะ”

 วันเทโวโรหณะ หมายถึง วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ในเวลาเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลังจากที่พระองค์ทรงจำพรรษาที่นั้นเป็นเวลา 3 เดือน ความสำคัญ วันเทโวโรหณะ เป็นวันที่มีการทำบุญตักบาตรที่พิเศษวันหนึ่ง กล่าวคือ ในพรรษาหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แสดงพระอภิธรรมโปรดพระมารดา และทรงจำพรรษาที่นั้น พอออกพรรษาก็เสด็จลงจากเทวโลกนั้นมายังโลกมนุษย์ โดยเสด็จลงที่เมืองสังกัสส์ ใกล้เมืองพาราณสี ชาวบ้านชาวเมืองทราบข่าวก็พากันไปทำบุญตักบาตรพระพุทธองค์ที่นั้น และเป็นการรับเสด็จพระพุทธองค์ด้วย กล่าวกันว่า ในวันนี้ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก ต่างมองเห็นซึ่งกันและกัน จึงเรียกวันนี้อีกชื่อหนึ่งว่า วันพระเจ้าเปิดโลก คือ เปิดให้เห็น กันทั้ง 3 โลกนั้นเอง

      การตักบาตรรับเสด็จพระพุทธเจ้าได้ปฏิบัติสืบเนื่อง ต่อกันมาเป็นประเพณี จนถึงเมืองไทย จึงเรียกประเพณีนี้ ว่า การตักบาตรเทโวโรหณะ เพื่อให้สะดวกในการสื่อความหมายนิยมสั้นๆ ว่า การตักบาตรเทโว ด้วยเหตุนี้ วันเทโวโรหณะจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วันตักบาตรเทโว ซึ่งคำว่า “เทโว” ย่อมาจาก “เทโวโรหนะ” แปลว่าการเสด็จจากเทวโลก การตักบาตรเทโวจึงเป็นการระลึกถึงวันที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาในเทวโลก ประเพณีการทำบุญกุศลเนื่องในวันออกพรรษานี้ ทุกวัดในประเทศไทย ก็มีพิธีเหมือนกันหมด จะผิดกันก็เพียงแต่สถานที่ ที่สมมติว่าเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เท่านั้น เมื่อถึงวันเทโวโรหณะ พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตรที่วัด โดยการปฏิบัติตน เตรียมอาหารในตอนเช้า อาหารที่เตรียมเพื่อตักบาตรเป็นพิเศษในวันนี้ คือ ข้าวต้มมัด และข้าวต้มลูกโยน วัดบางวัดอาจจะจำลองสถานการณ์วันที่ พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกชั้นดาวดึงส์ คือ ประชาชนจะนั่งหรือยืนสองฝั่งทางลงจากอุโบสถ หรือศาลา ให้พระสงฆ์เดินเข้าแถวเรียงลำดับรับบาตรตรงกลาง โดยมีมัคนายก เดินอัญเชิญพระพุทธรูปนำหน้าแถวพระสงฆ์ หลักจากตักบาตรแล้ว มีการอาราธนาศีล สมาทานศีล และรักษาศีล ฟังธรรมและทำสมาธิตามโอกาส เพื่อทำให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส แผ่เมตตา และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติ ผู้ล่วงลับและสรรพสัตว์

 

ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ

วันเทโวโรหนะ หมายถึง วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลกมาสู่มนุษยโลก หลังจากที่ได้แสดงธรรมเทศนาโปรดพระมารดา และเสด็จจำพรรษา ณ ดาวดึงส์พิภพครบไตรมาสแล้ว โดยเสด็จลงทางบันไดสวรรค์ที่ประตูเมืองสังกัสสนคร ทางตอนเหนือของกรุงสาวัตถี ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือ วันพระเจ้าเปิดโลก

เหตุที่เกิดวันเทโวโรหนะนั้น มีเรื่องเล่าตามอรรถกถาธรรมบทพอจะสรุปได้ว่า

          ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงเสด็จไปประทับ ณ นครสาวัตถี และทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนอยู่เป็นประจำ จนมีประชาชนอยู่เป็นประจำ จนมีประชาชนจำนวนมากหันมานับถือศาสนาพุทธ การที่ประชาชนหันมานับถือศานาพุทธด้วย ทำให้เหล่าเดียรถีย์เสื่อมลง เครื่องสักการะเดียรถีย์เหล่านี้ก็ลดน้อยลงด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้พวกเดียร์ถีย์เดือดร้อนต่างพากันคิดหาวิธีทำลายพระพุทธศาสนา โดยการกล่าวร้ายพระพุทธเจ้า และเหล่าสาวกบ้าง แกล้งเบียดเบียนพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนบ้าง แต่ก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนเสื่อมความศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้ ในทางกลับกันพวกเดียรถีย์กลับได้รับผลร้ายนั้นเสียเอง ในที่สุดเหล่าเดียรถีย์จึงคิดแผนการทำลายพระพุทธศาสนาขึ้นอีกอย่างหนึ่ง โดยอาศัยพระพุทธบัญญัติในข้อที่ว่า ห้ามมิให้พระสาวกในพระพุทธศาสนาแสดงอิทธิปาฎิหาริย์ ซึ่งเหล่าเดียรถีย์เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าคงไม่กล้าฝ่าฝืนข้อห้ามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ด้วยพระองค์เอง จึงช่วยกันกระจายข่าวว่า ” พระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกสิ้นท่าหมดปาฎิหารย์ไร ๆ แล้ว จึงงดการแสดง ตรงกันข้ามกับเหล่าคณาจารย์เดียรถีย์ซึ่งมีปาฏิหาริย์ อบรมมั่นคงเต็มี่พร้อมเสมอจะแสดงให้ปรากฎเมื่อไรได้ทุกเมื่อ ถ้าไม่เชื่อก็เชิญพระพุทธเจ้ามาแสดงปาฏิหารย์แข่งกันดู ว่าใครจะเก่งกาจสามารถกว่าใคร”

 ข่าวที่เดียรถีย์กล่าวหาพระพุทธเจ้านั้นได้กระจายไปทั้ว เป็นที่โจษจันของชาวเมืองโดยทั่วไป บ้างำมรู้แก่นแท้ในพรุพุทธศาสนาก็พากันวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสื่อมเสีย พวกเดียร์ถีย์เห็นว่าพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกเงียบเฉยไม่ออกมาแก้ความ ก็กล่าวหาพระพุทธเจ้าหนักขึ้นว่า ” พระพุทธเจ้าไม่มีความสามารถในการแสดงอิทธิปาฏิหารย์จึงเงียบอยู่เช่นนี้ไม่กล้ารับคำท้าทายจากเหล่าเดียรถีย์ทั้งหลาย ” ความนี้ได้รู้ถึงพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมาทรงใคร่ครวญว่าหากพระองค์ไม่แสดงปาฏิหารย์ให้เดียรถีย์ประจักษ์แก่สายตา จะเกิดผลเสียแก่พระพุทธศาสนามากกว่าผลดีเป็นแน่ พระพุทธเจ้าจึงทรงประกาศว่าพระองค์จะแสดงยมกปาฏิหารย์ ณ ต้นมะม่วง ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เมื่อเหล่าเดียรถีย์ได้รู้ความที่พระพุทธเจ้าที่แสดงอิทธิปาฏิหารย์ก็พากันหวาดกลัว ต่างกากลวิธีกลั่นแกล้งมิให้พระพุทธเจ้าทรงสามารถแสดงปาฏิหารย์ได้ โดยแบ่งออกเป็น ๓ พวก พวกหนึ่งช่วยกันทำลายต้นมะม่วงในเมืองสาวัตถีจนหมดสิ้น ส่วนพวกหนึ่งช่วยกันสร้างมณฑปในวัดเพื่อแสดงปาฏิหารย์ของตน ส่วนอีกพวกหนึ่งให้ช่วยกันประกาศให้ประชาชนไปชมการแสดงปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า และคอยชมความล้มเหลวในการแสดงปาฏิหาริย์ครั้งนี้
          เมื่อถึงกำหนดที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้ ปรากฎว่า เกิดพายุใหญ่พัดมณฑปของพวกเดียรถีย์พังจนหมดสิ้น ส่วนพระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงมีทีท่าว่าจะแสดงปาฏิหาริย์แต่อย่างใด และในตอนบ่ายของวันนั้นนายคัณฑะ คนเฝ้าพระราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ถวายมะม่วงผลหนึ่งแก่พระพุทธเจ้าเสียก่อน เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธองค์จึงนำมะม่วงผลนั้นถวายแด่พระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าได้รับมะม่วงสุกผลนั้นจากนายคัณฑะ ทรงรับสั่งให้พระอานนท์นำมะม่วงสุกผลนั้นไปทำน้ำปานะถวาย และให้นำเมล็ดมะม่วงวางลงบนพื้นดินบริเวณนั้น เมื่อทรงฉันน้ำปานะหมดทรงล้างพระหัตถ์ให้น้ำล้างพระหัตถ์รดบนเมล็ดมะม่วงนั้น ปรากฏว่า ต้นมะม่วงได้งอกขึ้นและใหญ่โดอย่างรวดเร็ว พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งว่า พระองค์จะแสดงปาฏิหารย์ ณ ต้นมะม่วงแห่งนี้ พระพุทธเจ้าทรงเนรมิตช่อไฟและท่อน้ำแล่นเป็นคู่สลับกันไปมาในอากาศรอบต้นมะม่วงนั้น และทรงเนรมิตบุคคลผู้เหมือนพระองค์ทุกประการขึ้นองค์หนึ่ง พร้อมกับทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสี กระจายออกทั่วบริเวณพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมพร้อมกับทรงจงกรมสลับกับพระพุทธนิมิต เมื่อประชาชนได้เห็นแก่สายตาของตนเองว่าพระพุทธเจ้าสามารถแสดงปาฏิหาริย์ได้เสมอ ก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธากันโดยทั่วไป ส่วนเหล่าเดียรถีย์นั้นประชาชนต่างพากันสมน้ำหน้าสาปแช่งจนพวกเดียรถีย์นั้นต้องย่อยยับลงไปในครั้งนี้เอง
          ในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเข้าพรรษาพระพุทธเจ้าทรงประกาศว่า พระองค์จะไปจำพรรษายังดาวดึงส์เทวโลก เนื่องจากทรงระลึกว่าทรงเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา พระนางปชาบดี พระนางยโสธราพิมพา และพระราหุลราชกุมาร ตลอดจนประยูรญาติทั้งหลายให้บรรลุมรรคผลตามสมควรแล้ว แต่ยังมิได้สนองพระคุณพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา เนื่องจากพระพุทธมารดาสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่พระองค์ประสูติได้เพียง ๗ วันเท่านั้น เห็นว่าควรจะสนองพระคุณพระพุทธมารดาให้สมควรแก่พระคุณ ทรงเทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดา ตลอดเวลา ๓ เดือน เมื่อออกพรรษาพระองค์จึงเสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกมาสู่โลกมนุษย์ ณ ประตูเมืองสังกัสสนคร โดยมีขบวนเทพยดา และประชาชนตามส่งเสด็จ และรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ ในวันเทโวโรหนะนี้พระองค์ทรงเนรมิตให้เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก สามารถมองเห็นซึ่งกันและกันได้
          เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลก ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ประชาชนจำนวนมากต่างพร้อมใจมาเฝ้ารับเสด็จและนำภัตตาหารมาถวายแด่พระพุทธเจ้า แต่ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จนั้นมีจำนวนมาก บางพวกที่อยุ่ห่างไม่สามารถใส่อาหารลงในบาตรได้ จึงนำข้าวสาลีมาปั้นเป็นก้อน ๆ แล้วโยนใส่บาตร จนกระทั่งเป็นประเพณีนิยมมาจนถึงปัจจุบันที่ต้องทำข้าวต้มลูกโยนใส่บาตรในวันเทโวโรหนะ